KUBET – “สภาวิศวกร” พบวิศวกร 2-3 ราย เข้าข่ายผิดจรรยาบรรณ กรณีตึก สตง.ถล่ม

“สภาวิศวกร” พบวิศวกร 2-3 ราย เข้าข่ายผิดจรรยาบรรณ กรณีตึก สตง.ถล่ม

“สภาวิศวกร” เผยพบวิศวกร 2-3 ราย เข้าข่ายผิดจรรยาบรรณ กรณีตึก สตง.ถล่ม อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล ส่งคณะกรรมการจรรยาบรรณพิจารณาบทลงโทษ

9 พฤษภาคม 2568 ที่อาคารที่ทําการสภาวิศวกร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร พร้อมด้วย รศ.ดร.ขวัญชัย ลีเผ่าพันธุ์ อุปนายกสภาวิศวกร คนที่ 2  รศ.ดร.การุญ จันทรางศุ ประธานกรรมการจรรยาบรรณ และ นายประสงค์ นรจิตร์ ประธานอนุกรรมการกฎหมาย ร่วมแถลงข่าวกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ ตึก สตง.ถล่ม กับบทบาทของสภาวิศวกร

อาจารย์ธเนศ บอกว่า ตั้งแต่เกิดเหตุ 28 มี.ค. สภาวิศวกร ได้ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือ และมีวิศวกรอาสาเข้าไปช่วยเหลือ ให้คำแนะนำในการกู้ร่างผู้เสียชีวิต และให้ข้อเสนอแนะในการค้ำยัน เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้รอดชีวิต รวมถึงมีการติดต่อประสานงานกับภาครัฐ ในการช่วยเหลือประชาชน และได้ประสานงานกับ กทม.ในการไปตรวจอาคารที่อยู่อาศัย และร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อตรวจอาคารภาครัฐ โรงเรียน โรงพยาบาล

หลังจากนั้นสภาวิศวกรก็มาตั้งกองอำนวยการ และได้แต่งตั้งคณะทำงานไปร่วมกับภาครัฐ เพื่อหาข้อเท็จจริงของอาคารถล่ม และตั้งคณะทำงานรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนิติบุคคล และบริษัทที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างรวมถึงวิศวกรที่ปรากฎชื่อตามสื่อต่างๆ ทั้งของกลุ่มกิจการร่วมค้า PKW บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ในนามของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติวิชาชีพ บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในโครงการดังกล่าว

โดยข้อมูลที่ได้รับจะถูกนำไปพิจารณาร่วมกับข้อเท็จจริง ที่รวบรวมได้จากคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรมสอบสวนคดีพิเศษ และหน่วยงานต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการทางจรรยาบรรณ และการดำเนินคดีแก่ผู้ฝ่าฝืนตามกฎหมายต่อไป โดยยืนยันว่า บทบาทสภาวิศวกรไม่มีหยุดทำมาอย่างต่อเนื่อง
\"สภาวิศวกร\" พบวิศวกร 2-3 ราย เข้าข่ายผิดจรรยาบรรณ กรณีตึก สตง.ถล่ม

ด้าน นายประสงค์ นรจิตร์ ประธานอนุกรรมการกฎหมาย ชี้แจงการดำเนินการทางจรรยาบรรณของสภาวิศวกร ว่า การจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการจรรยาบรรณของสภาวิศวกรได้ คือ 1. ผู้ที่ได้รับความเสียหาย สามารถกล่าวหา วิศวกรเข้ามา และ2.บุคคลทั่วไปสามารถกล่าวโทษวิศวกรขึ้นมาได้

แต่สภาวิศวกร ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้รวบรวมข้อมูลของวิศวกรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้เพื่อมาพิจารณาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณหรือไม่ ซึ่งบริษัทที่เกี่ยวข้องได้ส่งเอกสารส่วนหนึ่งกว่า 2,000-3,000 แผ่น เข้ามาชี้แจง ทำให้ขณะนี้ ทางสภาวิศวกรได้เห็นร่องรอยที่น่าจะมีโอกาส มีพฤติกรรมที่เข้าข่าย กระทำผิดจรรยาบรรณ โดยจะต้องรอสรุปข้อมูลก่อน จากนั้นจะเสนอประธานคณะกรรมการจรรยาบรรณให้พิจารณา ซึ่งชุดแรกที่พบว่า เข้าข่ายกระทำความผิด มีประมาณ 2-3 ราย

เมื่อถามย้ำว่า 2-3 ราย เป็นวิศวกรออกแบบ ผู้รับเหมา หรืออยู่ในส่วนของการควบคุมงาน นายประสงค์ระบุ ส่วนตัวจำข้อมูลไม่แน่ชัดว่า เป็นวิศวกรจากบริษัทใด และอยู่ในส่วนใด แต่ได้ดูข้อมูลจากทุกบริษัทที่เกี่ยวข้อง
\"สภาวิศวกร\" พบวิศวกร 2-3 ราย เข้าข่ายผิดจรรยาบรรณ กรณีตึก สตง.ถล่ม

ด้าน อ.ธเนศ บอกเสริมว่า ที่ได้มีการตั้งคณะทำงาน เมื่อพบว่า มีวิศวกรที่เห็นชัดเจนว่า เข้าข่ายกระทำผิดจรรยาบรรณ ทางเลขาธิการวิศวกร ก็สามารถเป็นผู้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณให้ตรวจสอบได้

ส่วนกรณีที่วิศวกรบางรายถูกปลอมลายเซ็นนั้น แล้วได้มีการดำเนินการแจ้งความเป็นคดีอาญาไปแล้ว อีกส่วนที่ถูกปลอมลายเซ็น ก็เป็นสมาชิกสภาวิศวกร ทางสภาวิศกรก็พร้อมดูแล ช่วยเหลือในเรื่องคดีความ ทั้งนี้หากคนที่ปลอมลายเซ็น เป็นวิศวกรด้วยกัน ก็เป็นการฟ้องร้องทางคดีอาญา ที่พนักงานสอบสวนจะรวบรวมผลการสอบสวน ยังไม่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณ แต่หากตัวของวิศวกรที่ถูกปลอมลายเซ็น จะนำพฤติการณ์ที่ถูกปลอมแปลง มาร้องกับกรรมการจรรยาบรรณ ก็สามารถมาร้องเพื่อให้ดำเนินการด้านจรรยาบรรณได้

ส่วนกรณีเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกร ที่ผู้จัดการโครงการและผู้ควบคุมงาน มีใบประกอบวิชาชีพระดับไหนถึงจะดูแลการก่อสร้างได้นั้น นายประสงค์ ระบุว่า ใบประกอบวิชาชีพมี 3 ระดับ แต่ละระดับมีการกำหนดการขอบเขตการทำงานไว้  แต่หากมีใบอนุญาตระดับต่ำ แล้วไปทำงานในระดับสูงนั้น ประเด็นนี้ก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล

เมื่อถามถึง กรณีที่ตำรวจ จะออกหมายจับวิศวกร จะสามารถดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตได้เลยหรือไม
รศ.ดร.การุญ จันทรางศุ ประธานกรรมการจรรยาบรรณ ชี้แจงว่า หากเป็นการออกหมายจับ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพนั้น กระบวนการจะเพิกถอนใบอนุญาต ก็เป็นกระบวนการที่จะต้องผ่านขั้นตอน ของคณะกรรมการจรรยาบรรณก่อน

ทั้งนี้หากจะมีคำสั่งลงโทษ ก็จะต้องรอฟังคำตัดสินของศาลด้วย จึงจะเข้าสู่กระบวนการจรรยาบรรณ เพื่อมาพิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งการผิดจรรยาบรรณ สามารถลงโทษได้ 4 ระดับ ตั้งแต่ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต

พร้อมย้ำว่า หากยังไม่มีการร้องเรื่องจรรยาบรรณเข้ามา คณะกรรมการก็ยังไม่สามารถดำเนินการพิจารณาลงโทษได้