KUBET – กต.เตือนคนไทยใน “อิสราเอล-อิหร่าน” อพยพออกนอกพื้นที่
กต.เตือนคนไทยใน “อิสราเอล-อิหร่าน” อพยพออกนอกพื้นที่
กต.เตือนคนไทยใน อิสราเอล-อิหร่าน อพยพออกนอกพื้นที่ เหตุมีความไม่แน่นอนสูง สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น สถานทูต พร้อมช่วย 24 ชั่วโมง
23 มิถุนายน 2568 ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายนิกรเดช พลางกรู อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ในตะวันออกกลาง และการให้ความช่วยเหลือคนไทยว่า ไทยได้แสดงความห่วงใยอย่างยิ่งในสถานการตะวันออกกลาง ในส่วนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือคนไทย ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ขณะนี้ มีความคืบหน้า โดยในประเทศอิสราเอล สถานเอกอัครราชทูต กรุงเทลอาวีฟ และฝ่ายแรงงาน รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตไทยในภูมิภาค ได้ประสานงานกับบริษัทก่อสร้าง ที่นำแรงงานชุดแรกจำนวน 22 คน เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว โดยได้เดินทางออกจากอิสราเอลทางบก ในวันที่ 22 มิถุนายน 2568 ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และจะเดินทางถึงประเทศไทย ในวันที่ 23 มิถุนายน เวลา 19.20 น.
ขณะนี้ สถานทูตอยู่ระหว่างการช่วยเหลือคนไทย ที่ประสงค์จะเดินทางออกจากอิสราเอล อีกจำนวน 12 คน เพื่อเดินทางผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดย 9 คนจะเดินทางออกทางบก ในวันที่ 25 มิถุนายน 2568 และอีก 3 คน จะเดินทางออกในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568
สถานเอกอัครราชทูต และฝ่ายแรงงานอยู่ระหว่างประสานงานกับกรมการจัดหางาน ภาคการก่อสร้างของไทย ถึงความเป็นไปได้ที่จะย้ายแรงงานก่อสร้างในอิสราเอล อีกประมาณ 3,000 คน ออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรอดูสถานการณ์ หรือเดินทางกลับไทย
สำหรับสถานการณ์ในอิหร่าน สถานเอกอัครราชทูตกรุงเตหะราน ได้ให้ความช่วยเหลือคนไทยชุดแรก 3 คน ที่ประสงค์เดินทางออกนอกประเทศ ให้เดินทางออกทางบกไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยปลอดภัยแล้ว ตั้งแต่คืนวันที่ 21 มิถุนายน 2568 และจะเตรียมการ เพื่อดำเนินการกลับประเทศต่อไป รวมถึงอยู่ระหว่างประสานช่วยเหลือคนไทยในอิหร่าน จากเมืองต่างๆอีก 73 คน ที่ประสงค์จะออกจากอิหร่าน ให้สามารถเดินทางออกทางบกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
และด้วยสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงขึ้นอย่างมากในกรุงเตหะราน สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้เปิดสถานที่ทำการชั่วคราวรวมถึงศูนย์พักพิง และให้ความช่วยเหลือคนไทย ขึ้นที่โรงแรม อีลิท เวิลด์ แวน ประเทศตุรกี อยู่บริเวณชายแดนติดกับอิหร่าน ซึ่งคนไทยในอิหร่าน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตที่หมายเลขฉุกเฉินเดิมได้ตลอด 24 ชั่วโมง (+99)912 159 8699 และ (+98)912 500 7933
นายนิกรเดช ย้ำว่าเนื่องจากสถานการณ์ในอิสราเอลและอิหร่าน มีความไม่แน่นอนสูง และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงอยากให้คนไทยที่พำนักอยู่ในทั้งสองประเทศ พิจารณาเดินทางออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมจากสถานเอกอัครราชทูตทั้ง 2 แห่งได้ตลอดเวลา
ขณะนี้ ความตึงเครียดมีความขยายตัวมากขึ้น จึงขอให้คนไทยในภูมิภาคประเทศต่างๆ ได้ติดตามข่าวสาร ผ่านประกาศของสถานเอกอัครราชทูตอย่างใกล้ชิด โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Thai Consular เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางไว้รับข่าวสาร และขอความช่วยเหลือในกรณีจำเป็น และขอให้คนไทยได้พิจารณาไม่เดินทางไปยังพื้นที่หากไม่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด
เมื่อถามว่า นอกเหนือจากการช่วยเหลือแล้ว การประกาศเข้าร่วมสงครามของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบกับประเทศไทยอย่างไรบ้าง นายนิกรเดช กล่าวว่า ไม่กระทบกับประเทศไทย เพราะเป็นปัญหาระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน ไทยมีท่าทีที่เป็นกลางกลับสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ สำคัญที่สุดตอนนี้คือยังไม่กระทบ และสามารถช่วยเหลือ ขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่นด้วย ยืนยันว่าไม่กดดัน เพราะมีท่าทีที่ชัดเจน แต่ยังมีความห่วงกังวลเพราะอยากให้กลับคืนสู่สันติภาพโดยเร็ว
นายนิกรเดช กล่าวถึงการอพยพคนไทยออกจากพื้นที่อิสราเอลและอิหร่านว่า สามารถอพยพทางบกได้เท่านั้นเนื่องจากน่านฟ้าปิด หากคนไทยประสงค์ที่จะเดินทางออก ต้องลำเลียงผ่านประเทศเพื่อนบ้าน แต่หากในอนาคตมีจำนวนคนที่ต้องการอพยพมากขึ้น ก็จะขอเป็นรายกรณี
ส่วนที่มีการเปิดน่านฟ้าให้อพยพคนอินเดีย 3,000 คนออกนอกประเทศ จะสามารถดำเนินการได้เช่นกันหรือไม่ นายนิกรเดช กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยมีความประสงค์ที่จะอยู่ในอิสราเอล และยังรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นที่จะอพยพ แม้จะแนะนำให้ออกด้วยการให้ความช่วยเหลือ ย้ำว่าหากมีคนไทยมากพอที่ต้องการอพยพก็จะประสานขอเป็นรายกรณี แต่หากเทียบเคียงกับกรณีของประเทศอินเดีย จำนวนคนไทยยังไม่มากพอ
ส่วนแผนของกระทรวงการต่างประเทศที่จะร่วมกับกระทรวงแรงงานในการอพยพแรงงานออกนอกพื้นที่ ขณะนี้มีความจำเป็นแล้วหรือไม่ นายนิกรเดช กล่าวว่าขณะนี้มีศูนย์ติดตามสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นรายชั่วโมง มีระดับขั้นของการพิจารณาให้คนออก และขณะนี้ยังคิดว่าคนควรจะออกไปยังศูนย์พักพิง แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องอพยพ และสามารถทำได้หากสถานการณ์รุนแรงจนถึงขั้นต้องอพยพ
นายนิกรเดช ยังกล่าวถึงอุปสรรคของการให้ความช่วยเหลือคนไทยว่า ขณะนี้มีการโจมตีทางอากาศและสถานการณ์มีความเปราะบางสูง คาดการณ์ยาก การลำเลียงคนไทยออกจากพื้นที่จึงต้องใช้ถนน โดยจะต้องดูเส้นทางที่มีความปลอดภัยที่สุด ไม่ใช่สั้นที่สุด อาจจะต้องผ่านเขาและต้องใช้เวลา แต่ทุกอย่างก็ยังมีความเสี่ยง สถานทูตฯได้สำรวจทุกเส้นทางแล้ว เส้นทางเส้นทางอาจจะมีความยาว แต่มีความปลอดภัยทุกเส้นทาง พร้อมย้ำไปยังแรงงานไทยในอิสราเอลและอิหร่าน ให้เดินทางออกนอกพื้นที่ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และมีการเปิดศูนย์พักพิงรองรับแล้ว พร้อมให้ความช่วยเหลืออยู่ในที่ปลอดภัยและส่งตัวทางกลับประเทศ
นายนิกรเดช ยังกล่าวถึงการให้ความดูแลเจ้าหน้าที่สถานทูตที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ว่าเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ตลอด ด้วยความพร้อมและเต็มใจช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยาก ความสำคัญแรกถือเป็นความสำคัญแรกของกระทรวงการต่างประเทศ แม้ว่าที่อิหร่านสถานเอกอัครราชทูตจะถูกปิด พื้นที่ใกล้เคียงก็ย้ายที่ทำการชั่วคราวไปเปิดในสถานที่ใกล้เคียงที่สุดเพื่อให้ได้ทำงาน ให้เกิดความรัดกุมและเสี่ยงน้อยที่สุด ยืนยันว่าจะอยู่จนกว่าคนไทยจะปลอดภัย
โดยล่าสุดสถานการณ์ที่อิสราเอล ได้ส่งทีมไปช่วยเพิ่มเติม เพื่อดูแลคนไทยที่ต้องการเดินทางออกนอกพื้นที่ ย้ำว่าใครมีความพร้อมและไม่กังวล ส่วนประเทศใกล้เคียงกับประเทศอิสราเอลและอิหร่านที่อพยพคนไทยออก เช่น ตุรกี อาร์เมเนีย อาเซอร์ จอร์แดน เยเมน พร้อมระบุว่าสามารถเปิดเผยได้เพียงเท่านี้ เนื่องจากเป็นเรื่องของความปลอดภัย