KUBET – เปิดมติครม. มอบอำนาจ “รักษาการนายกฯ” สั่ง “ยุบสภา” ได้หรือไม่
เปิดมติครม. มอบอำนาจ “รักษาการนายกฯ” สั่ง “ยุบสภา” ได้หรือไม่
ชัดเจน “ครม.แพทองธาร” ผวากระแส ปรับแก้ไขคำสั่ง หลังประชุมครม.นัดพิเศษ 3 ก.ค. 68 เห็นชอบ มอบอำนาจ “รองนายกฯเบอร์1″ ปฏิบัติราชการแทนนายกฯ มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งการ”ยุบสภา” บริหารบุคคล และงบประมาณ ไม่ต้องตีความกันให้วุ่น
3 กรกฎาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ที่ประชุมครม.มีมติ เห็นชอบ เรื่องการมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่ชัดเจน มีการมอบหมายให้ รองนายกฯเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกฯ คือ 1. นายภูมิธรรม เวชยชัย 2. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 3. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 4. นายพิชัย ชุณหวชิร และ 5. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ตามลำดับ
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจดูในเรื่องการมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้ รักษาราชการแทนนายกฯ โดยเฉพาะรองนายกฯอันดับ 1 มีการระบุชัดเจนว่า มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับนายกฯ และมีอำนาจหน้าที่ในการเป็นประธานในคณะกรรมการ หรือองค์กรใด
ขณะที่ รองนายกฯอันดับ 2-5 ที่จะมาทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกฯนั้น ระบุว่า การจะสั่งการใดอันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติงบประมาณ อันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 320/2567 เรื่องการมอบหมายให้รองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ ซึ่งเป็นคำสั่งสำนักนายกฯ มอบหมายอำนาจหน้าที่ ก่อนที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย กลับระบุว่า ในระหว่างที่รองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ ผู้รักษาราชการแทนข้างต้น (ซึ่งหมายรวมตั้งแต่รองนายกฯอันดับ 1 ถึงอันดับ 5 ) จะสั่งการใด เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกฯได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน
ดังนั้น มติครม. มอบหมายอำนาจหน้าที่ ให้รักษาการนายกฯ ครั้งนี้ นับเป็นการแก้ไขคำสั่งให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ว่ารองนายกอันดับ 1 คือ นายภูมิธรรม เวชยชัย มีอำนาจเช่นเดียวกับ นายกฯ ทุกอย่าง โดยไม่มีข้อยกเว้น ทั้งอำนาจประกาศยุบสภา อำนาจในการบริหารงานบุคคล และการอนุมัติงบประมาณ
ก่อนหน้านี้ น.ส.แพทองธาร ถูกศาลรธน. สั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ เกิดข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับอำนาจของรักษาราชการแทนนายกฯ มีขอบเขตอำนาจกระทำการมากน้อยเพียงใด แม้แต่อำนาจประกาศยุบสภา
สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของ นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯและอดีตเลขาธิการครม.หลายสมัย ให้สัมภาษณ์เนชั่นทีวี เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 68 ให้จับตาดูการประชุมครม.นัดพิเศษ ว่า สำนักเลขาธิการครม.จะมีการเสนอแก้ไขคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาอย่างไร
“รักษาการปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกอย่าง ส่วนคำสั่งมอบหมายงาน มีการเขียนยกเว้นบางอย่าง ก็มียกเว้น แต่ในการประชุมครม. วันที่ 3 กรกฎาคม ก็จะเขียนใหม่ จัดลำดับอาวุโสรองนายกฯใหม่ ต้องดูว่า จะมีการจัดลำดับให้ใครอาวุโสที่สุด
“สมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ต่อมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค. ) มีคำสั่งมอบหมาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปฎิบัติราชการแทนนายกฯ ซึ่งตอนแรกมีข้อจำกัดบางอย่าง มายกเลิกข้อจำกัดนั้นเสีย เลขาธิการครม.เสนอคำสั่งใหม่ ให้ผู้รักษาการแทนนายกฯมีอำนาจทุกอย่าง” นายวิษณุ เปิดเผยเนชั่นทีวี เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 68
ยอมรับอำนาจยุบสภามีสองความเห็น
นายวิษณุ ยังได้อธิบายถึงข้อถกเถียง รักษาการนายกฯมีอำนาจยุบสภาได้หรือไม่ว่า เรื่องนี้ ยอมรับว่ามีข้อถกเถียงกันมานานแล้ว ยอมรับมีสองความเห็น ความเห็นแรก เมื่อเป็นรักษาการนายกฯสามารถทำอะไรได้ทุกอย่างเหมือนนายกฯ อีกความเห็นบอกว่า ไม่ได้ เป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกฯ
“ผมเห็นไปในทางที่ว่าสามารถยุบสภาได้ อยู่ที่ว่าพระเจ้าอยู่หัว ท่านจะลงพระปรมาภิไธยได้หรือไม่ เมื่อท่านลงพระปรมาภิไธยให้หรือไม่ ถ้าถวายขึ้นไป ท่านลงพระปรมาภิไธยมา แล้วใครจะมาเถียงกันว่า ใครทำผิดรัฐธรรมนูญ”
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวย้ำว่า ตนทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และก็จะทำอย่างที่นายกรัฐมนตรีทำ ตนก็จะทำต่อ ทำให้และทำแทน
เมื่อถามว่า กฤษฎีกา ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับอำนาจของรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี มีอำนาจเต็มเหมือนกับนายกรัฐมนตรี หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ทำได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เมื่อถามย้ำว่า อำนาจนี้รวมถึงการยุบสภาด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนยังคุยแบบเป็นรูปธรรม
ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการยุบสภาได้นั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า ได้ทำตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีอะไรที่เป็นข้อห้าม